การจัดการความรู้
(Knowledge
Management)
ในเศรษฐกิจฐานความรู้
(Knoeledge-based
Economy) ทรัพยากรที่มีค่ายิ่งขององค์การนอกจากบุคลากร ก็คือ
ความรู้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางกลยุทธ์ที่สำคัญ องค์การต่าง ๆ
จึงให้ความสนใจในการจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) มากขึ้นและมุ่งหวังที่จะนำความรู้มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และชาญฉลาด
ในการสร้างสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะเฉพาะตัว เพื่อสร้างความเจริญเติบโต
และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
ความหมายของความรู้
มีผู้ให้ความหมายของความรู้ไว้หลายแนวคิด
เช่น
พจนานุกรมทางการศึกษา (Carter V. Good 1973
ได้ให้ความหมายของ ความรู้ว่า ความรู้เป็นข้อเท็จจริง (Facts) ความจริง (Truth) กฎเกณฑ์และข้อมูลต่างๆที่มนุษย์ได้รับและรวบรวมสะสมไว้จากมวลประสบการณ์ต่างๆ
พจนานุกรม The Lexiticon Webster
(Dictionary Encyclopedia Edition 1,1977) ได้ให้คำจำกัดความ “
ความรู้” เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง
กฎเกณฑ์และโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากการศึกษาหรือเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับสถานที่
สิ่งของ หรือบุคคล ซึ่งได้จากการสังเกตุ ประสบการณ์ หรือรายงาน
การรับรู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ต้องชัดเจนและต้องอาศัยเวลา
วิชัย วงศ์ใหญ่ (2530)
ได้ให้ความหมายความของ “ความรู้” ไว้ว่า
ความรู้เป็นพฤติกรรมเบื้องต้นที่ผู้เรียนสามารถจำได้ หรือระลึกได้โดยการมองเห็น
ได้ยิน ความรู้ในขั้นนี้ คือ ข้อเท็จจริง กฎเกณฑ์ คำจำกัด
ความรู้ (Knowledge) ตามความหมายพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2542 คือ สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือประสบการณ์
รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติ และทักษะความเข้าใจ หรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์
สิ่งที่ได้รับมาจากการได้ยิน ได้ฟัง การคิด หรือการปฏิบัติองค์วิชาในแต่ละสาขา
จากความหมายดังกล่าว ความรู้
หมายถึง การรับรู้ข้อเท็จจริง (Facts) ความจริง (Truth) กฎเกณฑ์
และข้อมูลต่างๆที่เกิดขึ้นจากการศึกษา ซึ่งพฤติกรรมเบื้องต้นที่ผู้เรียนสามารถจำได้
ระลึกได้โดยได้ยิน การมองเห็น การสังเกต หรือจากประสบการณ์ทางธรรมชาติ (NATURAL
SETTING) คือ เรียนรู้จากสภาพธรรมชาติที่อยู่ใกล้ๆตัว
การเรียนรู้จากสังคม (SOCIETY SETTING) เช่น
จากการอ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต หรือจากการเรียนการสอน (FORMAL INSTRUCTIONAL SETTING) คือ
มีผู้แทนจากสถาบันจัดลำดับการเรียนรู้อย่างมีจุดหมายและต่อเนื่อง เป็นต้น รวมถึงสิ่งที่ได้รับการสั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน
ค้นคว้าและถ่ายทอด ที่นำไปสู่การกำหนดกรอบความคิดสำหรับการประเมิน ความเข้าใจ
และการนำสารสนเทศและประสบการณ์ใหม่มาผสมรวมกัน
ความหมายของการจัดการความรู้ (Knowledge
Management)
มีผู้ให้ความหมายของการจัดการความรู้ไว้หลากหลาย
ในที่นี้จะขอยกมาเพียงบางท่าน ดังนี้
การจัดการความรู้
คือ การได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม สำหรับบุคลากรที่เหมาะสม ในเวลาที่
เหมาะสม และช่วยให้บุคลากรสร้าง แบ่งปัน และกระทำสิ่งต่างๆ บนข้อมูล
ในหนทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะของนาซ่าและหุ้นส่วน อย่างสามารถพิสูจน์ได้
(Knowledge management is getting the right information to the right people at
the right time, and helping people create knowledge and share and act upon
information in ways that will measurably improve the performance of NASA and
its partners.)
(คณะทำงานการจัดการความรู้ขององค์การนาซ่า
NASA
Knowledge Management Team, 2545)
การจัดการความรู้ในองค์กร
หมายถึง การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร
ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ
เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้
รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ,
2548)
การจัดการความรู้เป็นความท้าทายสองประการ
ประการแรก คือ การจัดการข้อมูลข่าวสารและกระบวนการ และประการที่สอง คือ
การจัดการบุคลากรและสภาพแวดล้อมเพื่อให้ความรู้ถูกสร้าง แบ่งปัน
และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ (WHO considers KM
to be the dual challenge of, first, managing information and processes and,
second, managing people and their environment so that knowledge is created,
shared and applied more systematically and effectively.)
(องค์การอนามัยโลก World Health Organization: WHO, 2548)
ได้ให้นิยามความหมายของการจัดการความรู้ไว้ว่า
“การจัดการความรู้ คือ การบริหารจัดการที่ส่งเสริมให้คนในองค์กร
ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อต่อยอดความรู้ที่แต่ละคนมีอยู่ให้สมบูรณ์
แล้วนำไปใช้สร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน (บูรชัย
ศิริมหาสาคร, 2550)
การจัดการความรู้
คือ กระบวนการในการสร้าง ประมวล เผยแพร่ และใช้ความรู้
เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินงาน (ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์, 2552)
การจัดการความรู้
เป็นกระบวนการในการจัดการสภาพแวดล้อม บรรยากาศ หรืออุปกรณ์ เช่น เทคโนโลยี
ที่มีส่วนสนับสนุนหรือเอื้อให้คนในองค์การมีการสร้าง แลกเปลี่ยน แบ่งปัน
กู้กลับคืน และใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์
และพัฒนาทั้งทางด้านของตัวบุคคลและองค์การให้มีความสามารถที่เป็นประโยชน์
และพร้อมที่จะปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(สุจิตรา ธนานันท์, 2552)
กล่าวโดยสรุป
การจัดการความรู้ คือ กระบวนการในการบริหารจัดการความรู้อย่างเป็นระบบเป็นขั้นตอน
ตั้งแต่กระบวนการในการระบุความรู้ที่มีอยู่ในองค์การ การจัดเก็บรวบรวมความรู้จากบุคลากร
การจัดหมวดหมู่ความรู้ การเผยแพร่องค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ตลอดจนการสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการเรียนรู้
จนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้และต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน
เพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์ขององค์การ